รักลูกให้เป็นต้องรักอย่างไร PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย sabpaya   
วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2015 เวลา 11:01 น.

พ่อแม่เป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการหล่อหลอมนิสัยและบุคลิกให้กับลูก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยนั้น เด็กจะซึมซับทุกๆ อย่างทั้งคำพูด การกระทำ รวมถึงสิ่งที่พ่อและแม่หรือผู้ดูแลได้ทำอะไรกับตัวเขาไว้บ้าง เมื่อลูกเติบโตขึ้น ประสบการณ์ในวัยเด็กก็จะส่งผลต่อทัศนะคติและพฤติกรรมของเขาตอนโต ดังนั้นเราจึงต้องรู้ว่าเราควรรักลูกอย่างไรการเลี้ยงลูกและรักลูกที่ถูกต้องนั้น ต้องเริ่มจากจิตใจของพ่อแม่ก่อน พ่อแม่ที่ดีควรทำตัวเหมือนเพื่อนที่ดีของลูก คอยอยู่เคียงข้างเขาเสมอ พ่อแม่หลายคนรักลูกมากจนบางครั้งกลัวลูกจะลำบาก กลัวลูกเหนื่อย กลัวลูกเจ็บ จนคิดหรือทำแทนลูกไปหมดทุกๆ อย่าง กลายเป็นว่าเมื่อลูกโตขึ้นมาก็จะเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ใช้อารมณ์ หรือเป็นเด็กดื้อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก พ่อแม่ควรจะรู้ความต้องการของลูกว่า ในแต่ละช่วงอายุวัยของลูกนั้น ธรรมชาติของเด็กจะต้องการอะไร

 

ตารางความต้องการของเด็กตามช่วงอายุวัย
ช่วงอายุสิ่งที่ลูกต้องการและพ่อแม่ควรจะปฏิบัติต่อลูก
วัยแรกเกิด ลูกต้องการการดูแลเอาใจใส่และความรักความห่วงใย พ่อแม่จึงควรพูดคุยหรือเล่นกับลูกเพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและได้รับความรัก
ช่วงวัยคืบคลาน ลูกกำลังฝึกพัฒนาการของร่างกาย อาจจะมีซนบ้าง (ชอบคลานไปมา) พ่อแม่ควรให้ลูกลองทำ ลองคลาน และให้เวลากับลูก เล่นกับลูก เป็นกำลังใจให้กับลูกในการพัฒนาการร่างกาย
ช่วงฝึกยืน ในวัยนี้ลูกต้องการจะหัดยืนด้วยตัวเอง ชอบเกาะของใช้เพื่อพยุงตัวเอง (จะพยายามยืน) พ่อแม่ควรใส่ใจดูแลและคอยช่วยอยู่ห่างๆ ให้ลูกได้หัดยืน และพัฒนากล้ามเนื้อต่างๆ
ช่วงเริ่มเดิน เมื่อลูกสามารถเดินเองได้ พ่อแม่ควรให้ลูกหัดเดินเอง อาจจะจูงมือลูกเดินเล่นบนสนามหญ้าหน้าบ้าน หรือสนามหญ้าตามสวนสาธารณะ อุ้มลูกให้น้อยลง แต่กอดลูกให้มากขึ้น
พอเริ่มเข้าอนุบาล ลูกจะเริ่มอยากทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น ตักข้าวกินเอง ดื่มน้ำเอง พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้หัดทำเอง แม้ว่าจะเลอะเทอะบ้างก็ต้องปล่อย ค่อยๆ สอนลูกว่าทำอย่างไร ไม่ควรเร่งรัดให้ลูกต้องไปเรียนรู้ โน้นนี่นั้นตามที่ตัวพ่อแม่อยากจะให้ลูกเป็น
พอลูกเข้าชั้นประถม ลูกจะชอบเล่น มีกิจกรรมกับเพื่อนๆ มากมาย พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกเล่น และให้กำลังใจในกิจกรรมต่างๆ ที่เขามีส่วนร่วม พ่อแม่ควรทำตัวเป็นเหมือนเพื่อนหากลูกต้องการให้พ่อแม่ร่วมกิจกรรมอะไรด้วย
เมื่อลูกเข้าสู่ชั้นมัธยมต้น ลองปล่อยให้ลูกมีอิสระทางความคิด หัดให้ลูกลองพิจารณาเหตุผล และพ่อแม่ต้องรับฟังสิ่งที่ลูกพูด สิ่งที่ลูกคิดให้มาก อย่าเอาความคิดของตัวเองเป็นเกณฑ์ หากลูกต้องการทำกิจกรรมหรือทำอะไร หากเป็นสิ่งที่ไม่เป็นอันตราย พ่อแม่ควรให้กำลังใจและคอยเป็นที่ปรึกษาให้ลูก
เมื่อลูกเข้าสู่มัธยมปลาย ลูกจะมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากรวมกลุ่มกับเพื่อน หากพ่อแม่ดูแลลูก ทำตัวเป็นเพื่อนที่ดีของลูกมาตั้งแต่แรก ลูกจะไม่ติดเพื่อนมากจนลืมพ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่ควรที่จะทำตัวเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา คอยสนับสนุนและให้กำลังใจ อย่าทำตัวเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตห้ามทำอันนั้น ห้ามทำอันนี้ การเลี้ยงลูกในวัยนี้ต้องใช้การพูดคุยด้วยเหตุและผล อย่าได้ใช้อารมณ์
เมื่อลูกเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ลูกจะได้พบกับสังคมที่ใหญ่ขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็จะมีมากขึ้น พ่อแม่ควรเป็นที่ปรึกษา พูดคุยทุกเรื่องกับลูก คอยเป็นกำลังใจ อย่าให้ลูกรู้สึกว่าถูกกดดันจากความหวังของพ่อแม่ แต่ควรทำให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่คอยเป็นกำลังใจลูกอยู่เสมอ

เมื่อพ่อแม่รู้ความต้องการพื้นฐานของลูกในแต่ละช่วงเวลา พ่อแม่ก็สามารถเตรียมตัวเองให้พร้อมได้อย่างถูกต้อง ลูกของเราก็จะเติบโตเป็นเด็กที่ดี มีภาวะอารมณ์และความคิดที่ดี ซึ่งนั้นคงจะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนคาดหวังอยากให้ลูกของตัวเองเป็นอย่างนั้น

ที่มา http://www.babytrick.com/childhood-period/how-to-love-your-baby.html#more-143

Share
แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 21 เมษายน 2015 เวลา 10:07 น.